ปัญหาน้ำท่วมขัง : ตามธรรมชาติแล้วพรรณไม้ทุกชนิดต้องการน้ำเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต แต่พรรณไม้ทุกชนิดก็มีความต้องการในปริมาณที่เหมาะสมไม่เท่ากัน เมื่อเกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานทำให้ขาดอาหารและอากาศ ซึ่งจะมีแนวโน้มที่ต้นไม้จะตายสูงมาก โดยเราสังเกตอาการได้จากใบจะเริ่มเหี่ยวซึ่งบอกถึงการขาดน้ำ บางทีเกิดอาการใบเปลี่ยนสีจากเหลืองเป็นสีน้ำตาล เหี่ยวแห้งและร่วงตายในเวลาต่อมา บางต้นมีความ Sensitive กับน้ำท่วมมากก็จะแสดงอาการให้เห็นได้ภายใน 3 วัน สุดท้ายคืออาการทิ้งใบ คล้ายๆ กับการเปลี่ยนฤดูกาลของพืช ซึ่งบ่งบอกว่าพืชกำลังพยายามปรับตัวให้เข้ากับฤดูแล้งที่เกิดจากอาการขาดน้ำนั่นเอง บางพื้นที่มีสภาพดินที่อุ้มน้ำทำให้ไม่สามารถระบายน้ำได้ดี ส่งผลให้ต้นไม้เกิดรากเน่าเสียหายง่าย การจัดการระบบระบายน้ำในสวนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นที่และสภาพดินเพื่อทำการประเมินการติดตั้งท่อระบายน้ำได้อย่างเหมาะสม โดยจะมี 3 วิธีด้วยกัน ได้แก่
1.ระบบระบายน้ำบนผิวดิน เป็นการปรับระดับความชันของหน้าดินให้มีความลาดเอียงประมาณ 1-10% เพื่อให้น้ำฝนไหลลงพื้นได้อย่างทันที แต่ต้องมีการติดตั้งช่องระบายน้ำเพื่อลดการเกิดน้ำขังอีกระดับ
2.ระบบระบายน้ำใต้ดิน เป็นระบบที่เหมาะกับพื้นที่ที่มีสภาพดินเป็นดินเหนียว ซึ่งไม่สามารถปรับความชันของดินได้ร่วมถึงระบายน้ำยาก จึงทำได้โดยการทดสอบการซึมของน้ำลงดินด้วยการรดน้ำ เพื่อรู้ตำแหน่งการวางท่อและทำการติดตั้งท่อระบายน้ำใต้ดินไปจนถึงบ่อพักน้ำ
3.ระบบระบายน้ำแบบร่องระบายน้ำ เป็นการทำแนวรางระบายน้ำเพื่อบังคับทิศทางให้น้ำไหลไปยังจุดที่ต้องการคล้ายระบบระบายน้ำบนผิวดิน
การให้ปุ๋ย : ต้นไม้และสนามหญ้าจะได้รับความชุ่มชื้นจากฝนมากเป็นพิเศษ การให้ปุ๋ยก็อาจจะต้องเว้นช่วงให้น้อยลง แต่หากจำเป็นจริงๆ ก่อนใส่ปุ๋ยต้องพรวนดินก่อนเสมอ แต่ในกรณีที่ฝนตกหนักมากจะต้องงดการให้ปุ๋ยก่อน เพื่อไม่ให้ฝนมาชะล้างปุ๋ยทิ้งหมด และแนะนำให้ใช้ปุ๋ยหมักแทนปุ๋ยเคมี ประกอบกับต้องหมั่นตัดหญ้าให้บ่อยขึ้น เพราะยิ่งฝนตกหญ้ายิ่งโตเร็ว
ปัญหาทั่วไปของทางเดินในสวน : มีคราบตะไคร่น้ำและวัชพืช บางครั้งก็เกิดหน้าดินก็ยุบตัวลง น้ำขังด้านล่างแผ่นทางเดิน ทำให้แผ่นทางเท้าไม่สม่ำเสมอและเดินไม่สะดวก อันดับแรกควรกำจัดวัชพืชด้านล่างแผ่นทางเดินโดยการรื้อแผ่นออกก่อน จากนั้นปรับระดับดินให้เรียบเสมอกันแล้วแซะเป็นร่องพอดีกับแผ่น อย่าลืมกำจัดตะไคร่น้ำเพื่อลดปัญหาการลื่น หากตะไคร่เกาะหนามากควรใช้น้ำยาทำความสะอาดเชื้อราและตะไคร่น้ำ และต้องเป็นน้ำยาที่เหมาะสมกับพื้นผิวแผ่นทางเดิน
บ่อน้ำหรือแหล่งน้ำช่วงฤดูฝน : เรามักจะสังเกตเห็นวัชพืชน้ำที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องของความชื้นหรือปริมาณแสงแดด ต้องยอมรับว่าเป็นหน้าฝนก็จริงแดดก็ยังคงเข้มข้นเช่นกัน ทำให้เป็นแหล่งอาหารของวัชพืชได้ดี ซึ่งถ้าหากเราไม่ได้กำจัดวัชพืชมันก็จะเติบโตและแย่งอาหารพวกไม้น้ำ เกิดปัญหาขวางกั้นท่อระบายน้ำ เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย และทำลายทัศนียภาพของแหล่งน้ำได้ การกำจัดวัชพืชหลัก ๆ จะมี 2 วิธีคือกำจัดด้วยแรงงานคนและเครื่องจักร อย่างการกำจัดด้วยการถอนมือจะใช้กับวัชพืชที่สามารถเดินลงไปขุด ตัด ถอน ได้เลยในระดับน้ำที่ไม่ลึกมาก อีกกรณีหนึ่งคือการใช้เครื่องจักรในการกำจัดส่วนใหญ่จะใช่ในพื้นที่กว้างและลึก เช่น คลอง อ่างเก็บน้ำ หรือมีปริมาณวัชพืชที่หนาแน่น ข้อดีคือสะดวกรวดเร็ว ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ปัญหาดินที่พบหลังน้ำลด : ส่วนใหญ่ดินจะมีลักษณะเป็นโคลนที่อิ่มตัวจากน้ำขังนานๆ ทำให้ดินขาดออกซิเจน ดินที่ถูกน้ำขังบดจนอัดแน่นกันทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี ส่งผลกระทบให้รากเสียหาย บางส่วนดูดสารอาหารจากดินได้น้อยลง บางส่วนก็สามารถตายได้ พืชจึงอยู่ในสภาพที่โทรม เหี่ยวเฉา การแก้ปัญหาคือเราไม่ควรเพิ่มน้ำหนักให้กับดินที่ถูกน้ำท่วมขังโดยการเทน้ำซ้ำ เพราะดินมันจะเกิดการอัดจนไม่มีอากาศภายใน สิ่งที่ควรทำคือปล่อยให้ดินแห้งไปตามธรรมชาติก่อน หมั่นพรวนดินอย่างสม่ำเสมอ และแยกขยะที่อยู่บนดินออกให้หมด เมื่อดินแห้งแล้วสามาถใส่ปุ๋ยเพื่อปรับปรุงสภาพดินให้โปร่งและเพิ่มธาตุอาหารสำหรับพืช
หลังน้ำท่วมเราควรจะดูแลสวนอย่างไรให้กลับมาเหมือนเดิม : ในช่วงแรกไม่ควรให้น้ำหรือปุ๋ย ต้องรอต้นไม้เริ่มฟื้นตัวก่อนแล้วจึงให้ปุ๋ยและฮอร์โมนเพื่อเร่งการเติบโตของรากและกระตุ้นให้แตกใบใหม่ กรณีที่มีโรครากและโคนเน่าจากเชื้อรา ให้ใช้สารป้องกันเชื้อราราดที่โคนต้นหรือทาที่ผิวลำต้น หากมีอาการใบเหลือง เหี่ยวเฉาควรตัดแต่งกิ่งเพื่อลดการคายน้ำ หลังน้ำลดแล้วไม่ควรเข้าไปใกล้ต้นไม้ทันที เนื่องจากดินยังอ่อนตัวอยู่ น้ำหนักตัวเราจะไปกดดินทำให้รากขาดหรือดินเกิดการอัดแน่นจนเกินไป ควรรอให้ดินแห้งสนิทแล้วจึงเข้าไปสำรวจความเสียหาย จากนั้นพรวนดินเพื่อเพิ่มออกซิเจนแก่รากพืชและทำให้พืชแตกรากใหม่ได้ดีขึ้น